บีทีเอสซีลงนามสัญญาซื้อรถไฟฟ้า 46 ขบวน 184 ตู้ รองรับปริมาณผู้โดยสารและส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสในอนาคต

กลับ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องฉัตรา บอลรูม โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อรถไฟฟ้า 46 ขบวน 184 ตู้ มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท โดยมี พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นายหวัง จวินเจิ้ง เลขาธิการของคณะกรรมการปกครองท้องถิ่นแห่งนครฉางชุน สาธารณรัฐประชาชนจีน (Mr.Wang Junzheng, Secretary of Changchun Municipal CPC Committee) ดร.โรลันด์ บุช กรรมการบริหารบริษัท ซีเมนส์ เอจี (Dr.Roland Busch, Member of the Managing Board of Siemens AG) ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาซื้อรถไฟฟ้าระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำกัด และระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ซีเมนส์ จำกัด

ทั้งนี้ สัญญาซื้อขบวนรถไฟฟ้าจะแบ่งออกเป็นการซื้อจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำกัด จำนวน 24 ขบวน และจากบริษัท ซีเมนส์ จำกัด จำนวน 22 ขบวน มูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 11,000 ล้านบาท เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทั้งในเส้นทางปัจจุบันหมอชิต-แบริ่ง และสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า ระยะทางรวม 36.25 กิโลเมตร และในเส้นทางส่วนต่อขยายไปสมุทรปราการระยะทาง 13 กิโลเมตร และคูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารตามปกติสูงสุดถึงเกือบ 900,000 เที่ยวคนต่อวัน

ขบวนรถไฟฟ้าที่สั่งซื้อจากทั้งสองบริษัทจะใช้สเปคเดียวกันกับขบวนรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม เพื่อให้เข้ากันได้กับระบบต่างๆ ที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ แต่ยังจะเลือกใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดจากผู้ผลิตชั้นนำของโลก เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุด บริษัททั้งสองนี้เป็นผู้ผลิตขบวนรถไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว แต่ขบวนรถไฟฟ้าใหม่ ในส่วนของขบวนรถไฟฟ้าจากบริษัท ซีเมนส์ จะมีการปรับรูปโฉมให้ดูทันสมัยมากขึ้นรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่ขบวนรถไฟฟ้าจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล นั้นจะมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ บ้างเพื่อให้ทันสมัยที่สุด แต่รูปลักษณ์โดยทั่วไปจะยังคงแบบเดียวกับของเดิมซึ่งยังคงทันสมัยเนื่องจากได้ใช้งานมาเป็นเวลาไม่นานนัก ขบวนรถไฟฟ้าที่สั่งซื้อในครั้งนี้ จะเริ่มทยอยส่งมอบประมาณต้นปี พ.ศ. 2561 และจะส่งมอบแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2563

เมื่อเริ่มเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2542 บริษัทฯ มีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 35 ขบวน ความยาวขบวนละ 3 ตู้ รวมเป็น 105 ตู้ ผลิตโดยบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทฯ มีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งสิ้น 52 ขบวน ความยาวขบวนละ 4 ตู้ รวม 208 ตู้ โดย 35 ขบวนเป็นขบวนรถที่ผลิตจากบริษัท ซีเมนส์ จำกัด และจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำกัด จำนวน 17 ขบวน ให้บริการในระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครสายสีลม จากสถานีสะพานตากสิน-สถานีบางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครสายสุขุมวิท ช่วงสถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร รวมเป็น 36.25 กิโลเมตร 34 สถานี เมื่อขบวนรถไฟฟ้าใหม่ส่งมอบครบหมดแล้วจะทำให้บริษัทฯ มีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการทั้งสิ้น 98 ขบวน รวม 392 ตู้ และจะให้บริการในเส้นทางสายสีลมจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติถึงสถานีบางหว้า ระยะทางรวม 14 กิโลเมตร และสายสุขุมวิทจากสถานีคูคตถึงสถานีสมุทรปราการ ระยะทางรวม 55 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางที่ให้บริการดังกล่าวได้อีกไม่น้อยกว่า 10 ปี จากนี้ไป

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามนโยบายของรัฐบาลและกรุงเทพมหานครที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้บริการให้เร็วที่สุดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางเข้าและออกเมืองได้อย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย และปลอดภัย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขบวนรถไฟฟ้าในวันนี้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างดียิ่งของภาคเอกชนกับรัฐบาลในการที่จะร่วมพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ให้มีความสมบูรณ์ สามารถเชื่อมโยงขนส่งประชาชนจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นการประหยัดพลังงาน ประหยัดเวลาในการเดินทาง และยังมีความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางอีกด้วย ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้มีการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครต้องขอขอบคุณรัฐบาลและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยที่เล็งเห็นประโยชน์ของประชาชนในการที่จะได้รับความสะดวก ความปลอดภัย และความประหยัดจึงได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายไปสมุทรปราการและคูคต เพื่อให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบการเดินรถสายสีเขียวตลอดทั้งสองเส้นทางโดยมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่องในเส้นทางเดียวกัน และกรุงเทพมหานครจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถทดลองเดินรถในเส้นทางสมุทรปราการ ได้ 1 สถานีคือที่สถานีสำโรง ภายในเดือนธันวาคม 2559 นี้ และจะเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2560 รวมทั้งจะทยอยเปิดให้บริการส่วนที่เหลือโดยเร็วที่สุดทั้งในเส้นทางสมุทรปราการและคูคต นอกจากนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการรถไฟฟ้าขนาดรองที่เป็นระบบเสริมของรถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้ เช่น สายสีเทา สายสีทอง และรถไฟฟ้า LRT บางนาไปสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อให้การเดินทางของประชาชนเกิดความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นายหวัง เริน ประธานกรรมการ บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำกัด และ ดร. โรลันด์ บุช กรรมการบริหาร บริษัท ซีเมนส์ เอจี ได้กล่าวแสดงความขอบคุณ และรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับประเทศไทยในโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งสองบริษัทมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยว่ามีรากฐานที่ดี มีโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการเปิดโอกาสให้เอกชนทั้งภายในและนอกประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ทั้งนี้ทั้งสองบริษัทได้ให้ความมั่นใจว่า จะผลิตขบวนรถไฟฟ้าให้เร็วและดีที่สุดเพื่อนำมาให้บริการประชาชนตามนโยบายรัฐบาลและกรุงเทพมหานครที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างเร็วที่สุด