กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์แถลงข่าวโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง

กลับ

ในภาพ: นายคีรี กาญจนพาสน์ (ที่สองซ้าย) ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) พร้อมนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา (ซ้ายสุด) กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมด้วย นายภาคภูมิ ศรีชำนิ (ขวาสุด) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และนายรัมย์ เหราบัตย์ (ที่สองขวา) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในนามของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ได้แถลงข่าวให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ณ ห้องสุรศักดิ์ 2-3 โรงแรม อีสติน แกรนด์ สาทร เมื่อเร็วๆ นี้

กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้นำในวงการธุรกิจของประเทศไทย ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) ผู้นำด้านการให้บริการระบบขนส่งมวลชน บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) ผู้นำด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) ผู้นำด้านธุรกิจผลิตพลังงานครบวงจร ได้ร่วมกันให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ในฐานะที่กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้รับการคัดเลือกจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่าเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดของโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองเส้นทางดังกล่าว

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ( มหาชน ) (BTS) กล่าวว่า ในนามของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ใคร่ขอขอบคุณรัฐบาล และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ที่ได้คัดเลือกให้กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด ในการคัดเลือกผู้รับสัมปทานการลงทุนออกแบบ และก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง โดยจะเริ่มเจรจากับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ให้ได้ข้อสรุปทั้งสองโครงการก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติประมาณเดือนมีนาคม – เมษายน 2560

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองสายนี้เป็นการลงทุนในลักษณะ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับการก่อสร้างงานโยธา รวมทั้งให้เงินสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาโดยจำกัดวงเงินสนับสนุนสำหรับสายสีชมพูไว้ไม่เกิน 20,135 ล้านบาท และสายสีเหลืองไม่เกิน 22,354 ล้านบาท และเอกชนผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธา จัดหาระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า โดยวงเงินลงทุนทั้งหมด ( ประกอบด้วยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่างานโยธา และค่าระบบไฟฟ้า )สำหรับสายสีชมพูประมาณ 53,490 ล้านบาท และสายสีเหลืองประมาณ 51,810 ล้านบาท โดยสัญญาสัมปทานจะมีอายุ 33 ปี 3 เดือน (ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี) ผู้รับสัมปทานจะมีหน้าที่ในการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษาระบบตลอดอายุสัมปทาน ตลอดจนจัดเก็บรายได้จากค่าโดยสารและรายได้จากกิจการเชิงพาณิชย์อื่นๆ ในระบบ โดยจะมีการแบ่งรายได้ให้กับ รฟม. ด้วย

นายคีรี กล่าวเพิ่มเติมว่าบริษัทบีทีเอส ในฐานะที่ได้ลงทุนทำธุรกิจด้านรถไฟฟ้ามากว่า 25 ปี โดยได้เริ่มโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสมาตั้งแต่ปี 2535 และสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยในปี 2542 ได้เดินรถมากว่า 17 ปี รูปแบบการลงทุนในส่วนที่เป็นสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตรก็เป็นการลงทุนในรูปแบบ Net Cost เช่นเดียวกัน โดยบริษัทได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มามากมาย เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย มาจนถึงวันนี้บริษัทถือว่าประสบความสำเร็จในการเป็นทางเลือกที่สำคัญในการเดินทางให้กับคนกรุงเทพ ดังนั้นบริษัทมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจขนส่งมวลชนเป็นอย่างดี สำหรับการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลืองนี้ บริษัทได้ติดตามและให้ความสนใจมาโดยตลอด ได้ใช้เวลาและทรัพยากรในการศึกษามาเป็นเวลาพอสมควร ก่อนที่จะมีการประกาศเชิญชวนให้เอกชนมาลงทุน บริษัทจึงมีความพร้อมในการลงทุน และมีความมั่นใจในทั้งสองโครงการ ให้ผลตอบแทนในระดับที่ยอมรับได้ โดยบริษัทได้ทำการศึกษารายละเอียดโครงการมาเป็นอย่างดี เพื่อให้เกิดความมั่นใจทั้งในด้านการบริการและจำนวนผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งในส่วนของการเดินรถ และการซ่อมบำรุงรักษาระบบ บริษัทเชื่อว่า บริษัทสามารถประมาณการได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนั้นในส่วนของต้นทุนค่าก่อสร้าง ซึ่งมีความสำคัญกับการลงทุนเป็นอย่างมาก บริษัทได้พันธมิตรอย่าง บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง มาร่วมงาน ซึ่งนอกจากจะร่วมลงทุนในโครงการทั้งสองนี้แล้ว ยังมีส่วนทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างมีราคาที่เรียกว่าแข่งขันได้ โดยบริษัทซิโน-ไทยฯ เป็นบริษัทก่อสร้างชั้นนำของประเทศไทย ได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถประเมินราคาค่าก่อสร้างงานโยธาให้ได้ราคาดีที่สุด ในขณะที่บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ซึ่งมีความรู้ความชำนาญในเรื่อง ไฟฟ้ากำลัง และระบบควบคุม ก็ได้ให้ข้อแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ทำให้ต้นทุนของโครงการมีราคาที่สามารถแข่งขันได้

สำหรับในส่วนของระบบไฟฟ้า และเครื่องกลอื่น ๆ โดยเฉพาะตัวรถไฟฟ้า บริษัทมีความชำนาญในการจัดซื้อระบบเหล่านี้เป็นอย่างดี และทำงานกับผู้ผลิต เหล่านี้มานานทำให้สามารถเจรจาต่อรอง ให้ได้ของที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสมได้ ซึ่งจากทั้งหมดนี้เมื่อนำมาคำนวณ และวิเคราะห์แล้ว ทำให้กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ มีความมั่นใจว่าโครงการสามารถที่จะลงทุนได้

นอกจากนั้นแล้ว เพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ยังได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมจากขอบเขตโครงการเดิม โดยสายสีชมพูเสนอให้มีการต่อเส้นทางระยะทางประมาณ 2.8 กิโลเมตรจากสถานีศรีรัช (PK10) บนถนนแจ้งวัฒนะ เข้าไปยังเมืองทองธานี เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าว มีประชากรอยู่หนาแน่น มีส่วนงานราชการอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญมีศูนย์การประชุม และแสดงสินค้า IMPACT ซึ่งเป็นศูนย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ การมีเส้นทางต่อนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ประชาชนที่จะมาติดต่อราชการ และผู้ที่จะเดินทางมายังศูนย์แสดงสินค้า IMPACT ซึ่งมีคนเข้างานถึง 15 ล้านคน ทำให้จะช่วยลดปัญหาการจราจรทั้งในพื้นที่และบริเวณด้านนอกได้เป็นอย่างดี ในส่วนสายสีเหลือง กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เสนอให้มีการต่อขยายสายสีเหลืองออกไปอีกเป็นระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตร โดยส่วนต่อขยายจะเริ่มจากสถานีรัชดา (YL01) ไปทางทิศเหนือตามถนนรัชดาภิเษกและสิ้นสุดบริเวณแยกรัชโยธิน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับสถานี N10 (บริเวณปากซอยพหลโยธิน 24) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (จากหมอชิตไปคูคต ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง) ทำให้การเดินทางของประชาชนสะดวกมากขึ้น และเป็นโครงข่ายการเดินทางที่สมบูรณ์ พร้อมกันนี้ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ยังเสนอให้ใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว ทั้งบัตรประเภทเที่ยวเดียว และบัตรเติมเงิน (เช่น บัตรแรบบิท และบัตรแมงมุม) สามารถเดินทางได้ทั้ง 3 ระบบ คือ สายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีเหลือง และพยายามออกแบบให้เป็นลักษณะการเชื่อมแบบ Paid to Paid ที่ผู้บริโภคไม่ต้องออกนอกระบบ โดยแตะบัตรเข้า และออกเพียงครั้งเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกแก่ผู้โดยสาร

ในส่วนของเงินลงทุนทั้ง 3 บริษัท มีความพร้อมที่จะลงทุน ทั้ง 2 โครงการ ซึ่งแต่ละโครงการต้องมีทุนจดทะเบียนชำระเต็มไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านบาท รวมเป็น 28,000 ล้านบาท และเงินลงทุนในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 70,000 ล้านบาท จะมาจากการกู้เงินจากสถาบันการเงิน และ/หรือ การระดมทุนจากตลาดทุน ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การออกพันธบัตร เป็นต้น กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้เตรียมการในเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยได้มีการหารือ กับสถาบันการเงิน และผู้เกี่ยวข้อง และมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดหาเงินลงทุนทั้งหมดได้ทันครบถ้วนตามเวลา และเป้าหมาย

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ซิโน-ไทยฯ มีความพร้อมทั้งในส่วนของเงินลงทุน ที่จะลงทุนในกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ สำหรับทั้ง 2 โครงการ และมีความพร้อมที่จะเป็นผู้รับดำเนินงานก่อสร้างงานโยธา ให้กับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ บริษัทได้มีการศึกษาข้อมูลและวางแผนงานก่อสร้างในเบื้องต้นไว้แล้ว และพร้อมที่จะเริ่มงานได้หลังจากที่ได้รับมอบพื้นที่ก่อสร้าง บริษัทมีความมั่นใจว่าจะสามารถก่อสร้างได้ตามกำหนด การที่บริษัท ได้รับงานก่อสร้างพร้อมกันทั้ง 2 โครงการ จะทำให้บริษัทสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเต็มที่

นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ได้ติดตามโครงการรถไฟฟ้า มาเป็นเวลานานแล้ว และมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนโครงการพวกนี้ ซึ่งบริษัทมีความรู้ความชำนาญในด้านของระบบไฟฟ้าซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับรถไฟฟ้าอยู่แล้ว บริษัทได้ทำงานร่วมกับบีทีเอส และซิโน-ไทยฯ มาตั้งแต่ต้น และมีความมั่นใจว่าโครงการทั้ง 2 เป็นโครงการที่ดี สามารถลงทุนโดยภาคเอกชน ตามเงื่อนไขของ TOR ได้ และที่สำคัญเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก