พิธีลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

กลับ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานพิธีลงนาม “โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง” โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คณะผู้บริหารบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพ

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รักษาการแทนผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง เป็นโครงการนำร่องตามมาตรการ PPP Fast Track ของรัฐบาล ในการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและสร้างแรงขับเคลื่อนการลงทุนร่วมกับภาครัฐให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยทั้ง 2 โครงการ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนวงเงินลงทุนบางส่วน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เป็นระยะเวลาตามสัญญา 33 ปี 3 เดือน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1: งานออกแบบและก่อสร้างโครงการ พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน และ ระยะที่ 2: งานให้บริการเดินรถ ระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เสนอ โดยมีกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในนามของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ว่า กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้น 2 บริษัท เพื่อดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู คือ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คือ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ซึ่งตามสัญญาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost นี้ บริษัทร่วมทุนจะได้รับสิทธิในการบริหารจัดการเดินรถ จัดเก็บรายได้ค่าโดยสารและค่าที่จอดรถ รวมถึงรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ด้วย ทั้งนี้บริษัทร่วมทุนทั้ง 2 บริษัท จะมอบหมายให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง และว่าจ้างบริษัท ซิไน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างงานโยธา และว่าจ้าง บริษัท บอมบาดิเอร์ ผลิตและติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล

ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนจากพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายหลัก ได้แก่ สายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีน้ำเงิน เพื่อเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกรวดเร็วและช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในพื้นที่ของโครงการทั้งสองสาย นอกจากนี้ผู้โดยสารจะสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียวกันเดินทาง ทั้งบัตรประเภทเที่ยวเดียว และบัตรเติมเงิน (บัตรแมงมุม)โดยสามารถเดินทางได้ทั้ง 3 ระบบ คือสายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีเหลือง โดยจะออกแบบให้เป็นลักษณะการเชื่อมต่อแบบ Paid to Paid ที่ผู้โดยสารไม่ต้องออกนอกระบบ เพียงแตะบัตรเข้าและออก เพียงครั้งเดียว ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกสบายและรวดเร็วในการเดินทางให้กับผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรวม 30 สถานี กรอบวงเงินลงทุน 46,643 ล้านบาท ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มีระยะทางประมาณ 30.4 กิโลเมตร มีสถานีรวม 23 สถานี กรอบวงเงิน ลงทุน 45,797 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคล่อมราง (Straddle Monorail) เป็นโครงสร้างยกระดับตลอดสาย มีทางเดินสำหรับการอพยพกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน (Emergency Walkway) ตลอดทาง แนวเส้นทางเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder Line) ที่จะกระจายความหนาแน่นของกิจกรรมเมือง และเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนหลัก (Main Line) เป็นโครงข่ายอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2563